วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

ความสำคัญของอาหารเช้า


การบริโภคอาหารมื้อเช้าถือว่าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญต่อสุขภาพร่างกายมากที่สุด เนื่องจากเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า เราไม่ได้กินอาหารนับจากมื้อเย็นประมาณสิบชั่วโมงหรือมากกว่า โดยระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำ ในขณะที่เราลุกขึ้นเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ เราจะรู้สึกหิว เพราะร่างกายต้องการพลังงานเติม โดยสมองจะกระตุ้นศูนย์ควบคุมความหิวให้เราเกิดความรู้สึกหิวในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้เราหิวมาก และจะรับประทานอาหารในมื้อถัดมาในปริมาณมากขึ้น หากเรายังไม่ได้เติมพลังงานให้แก่ร่างกาย หรือยังไม่ได้กินอาหารเช้า ร่างกายต้องไปดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในตับ
ซึ่งร่างกายเก็บเป็นเสบียงไว้ใช้ในยามจำเป็นเพื่อมาเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ แต่ไม่นานนักพลังงานส่วนนี้จะถูกใช้หมดไปเพราะไม่มีพลังงานใหม่มา สุดท้ายร่างกายอาจจะปรับสมดุลโดยการลดกลไกการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลงเพื่อสำรองไว้ใช้อย่างจำเป็น เมื่อมื้อใดเรารับประทานอาหารเข้าไปมากจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป และพลังงานที่เกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมไว้ในร่างกายในที่สุดซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามมา


นอกจากนี้ผลการวิจัยหลายเรื่องได้กล่าวถึงการรับประทานอาหารมื้อเช้าที่มีคุณค่า มีความสำคัญเพราะ.-
  • คนที่กินอาหารเช้ามีพลังงานในการทำงานได้นานกว่า
  • การกินอาหารเช้าทำให้ลดปริมาณการกินอาหารว่าง
  • คนที่ไม่กินอาหารเช้ามีอัตราการเผาผลาญอาหารต่ำกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำ
  • เด็กที่กินอาหารเช้ามีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ให้ความร่วมมือดีกว่า และมีสมาธิในการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้า
อีกสิ่งที่สำคัญมากก็คือ การไม่รับประทานอาหารเช้าอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนได้ เหตุเพราะ เรารับประทานอาหารครั้งสุดท้ายมื้อเย็น กว่าจะไปรับประทานอีกครั้งคือมื้อกลางวัน ซึ่งช่วงเวลาระหว่างสองมื้ออาหารนี้นานมาก ทำให้ถึงเวลารับประทานมื้อกลางวัน ทำให้หิวมากกว่าปกติ และจะรับประทานเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งส่วนที่เหลือจะเป็นไขมัน การที่คนเราไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าเลย หรืองดมื้อใดมื้อหนึ่งไปทำให้เขาขาดสารอาหารไปอย่างน้อย 1/3 ของความต้องการพลังงานทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งมักทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาได้เพราะทำให้การรับประทานอาหารมื้อต่อไป เพิ่มปริมาณมากขึ้นเพราะหิวมากขึ้น หรือไม่ก็จะทำให้เรารับประทานระหว่างมื้อมากขึ้น หรือรับประทานอาหารเป็นประเภทจุบจิบ เช่น อาหารประเภทขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน และน้ำอัดลม เป็นต้น โดยอาหารเหล่านี้แฝงไปด้วย เกลือ น้ำตาล และไขมันอิ่มตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเรา ทำให้น้ำหนักเกินหรืออ้วนได้ง่ายขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคข้อและกระดูกอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการตายในผู้ใหญ่
credit siamhealthtoday

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น